This is Islam

7/09/2553

หลักปฏิบัติ

หลักปฏิบัติ
                

หลักปฏิบัติ ได้แก่ข้อปฏิบัติที่อิสลามได้บัญญัติไว้เป็นหลักการพื้นฐาน มุสลิมจะต้องนำมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จะละเว้นมิได้โดยเด็ดขาด ผู้ละเว้นการปฏิบัติ ผู้นั้นจะได้รับบาปมหันต์จากพระผู้เป็นเจ้า

               หลักปฎิบัติสามารถแบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ

               ก. หลักปฏิบัติที่บังคับเป็นรายบุคคล
 ไม่ว่าเป็นชายหรือหญิงก็ตาม นับแต่บรรลุนิติภาวะ ตามหลักการอิสลามเป็นต้นไป และมีสติสัมปชัญญะ เช่น การทำละหมาดวันละ 5 เวลา การจ่ายซะกาตเมื่อครบพิกัด การทำฮัจย์เมื่อมีความสามารถ เป็นต้น

               ข. หลักปฏิบัติที่บังคับเป็นส่วนรวม  เมื่อมีใครได้ปฏิบัติ ภาระของคนทั้งหมดก็จะหมดไป บาปโทษก็ไม่ตก แก่คนเหล่านั้น เช่น การจัดการเกี่ยวกับคนตาย เป็นต้น

               ค. หลักปฏิบัติที่ไม่ได้บังคับ
 เว้นไว้ให้เป็นไปตามความสมัครใจ ผู้ใดปฏิบัติ ก็ได้กุศล ผู้ใดไม่ปฏิบัติ ก็ไม่เกิดโทษ เช่น การละหมาดอีดิลฟิตริ และ อีดิลอัฎฮา เป็นต้น
หลักปฏิบัติพื้นฐาน
               หลักปฏิบัติพื้นฐาน หมายถึง หลักศาสนกิจที่อิสลามได้บัญญัติเป็นพื้นฐานแรก สำหรับมุสลิมทุกคนที่จะต้องนำมาปฏิบัติ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของอิสลาม ซึ่งเราเรียกว่า "อัรกานุลอิสลาม" มี 5 ประการ คือ
1. การปฏิญาณตน

               ผู้ประสงค์จะเข้าสู่อิสลาม จะต้องกล่าวคำปฏิญาณตนอย่างเปิดเผยและชัดเจน พร้อมทั้งเลื่อมใสศรัทธา ตามที่ตนปฏิญาณ และจะต้องประพฤติตามบทบัญญัติอย่างจริงใจ

               การเป็นมุสลิม มิใช่เพียงการกล่าวคำปฏิญาณ หรือเพียงประพฤติตามแบบมุสลิมเท่านั้น หากจะต้องประกอบด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแท้จริงด้วย องค์ประกอบแห่งการปฏิญาณตน จะต้องมีพร้อมทั้ง 3 ประการ คือ

               1. กล่าวปฏิญาณด้วยวาจา
               2. เลื่อมใสด้วยจิตใจ
               3. ปฏิบัติด้วยร่างกาย


               บุคคลที่นับถือศาสนาอิสลาม จะต้องจัดการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ เพื่อเหตุผลด้านความสะอาด และสุขภาพอนามัย

               ประโยคปฏิญาณมิใช่จะกล่าวเพียงเพื่อเริ่มต้นสถานภาพอิสลามเท่านั้น มุสลิมทุกคนควรกล่าวเป้นประจำ เพื่อเตือนใจตัวเองในสิ่งปฏิญาณนั้น โดยเฉพาะที่บังคับจะต้องกล่าว ก็มีอยู่ในบางการปฏิบัติศาสนกิจ เช่น ต้องกล่าวในละหมาด เป็นต้น

               คำปฏิญาณของอิสลาม มิใช่การสบถสาบานให้มีอันเป็นไปต่างๆ นานา มิใช่คำสวดภาวนา หากเป็นประโยคที่กล่าวแสดงถึงศรัทธามั่นในพระเจ้า และในศาสนทูตมุหัมมัด

               ผู้ที่ประสงค์จะเข้าอิสลาม จะต้องเริ่มด้วยจิตใจที่มีศรัทธา จากนั้นจึงกล่าวประโยคปฏิญาณ ซึ่งมุสลิมทุกคนต้องกล่าวได้ การสอนประโยคปฏิญาณ จึงไม่จำเป็นต้องเลือกเอาบุคคลที่มีความรู้ทางด้านศาสนาสูง มุสลิมทุกคนสามารถที่จะกล่าวนำประโยคปฏิญาณได้ทั้งนั้น

2. การละหมาด

               การละหมาด คือ การแสดงความเคารพ นมัสการต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ประกอบด้วย จิตใจ วาจา และร่างกาย พร้อมกัน

               ผู้ทำละหมาดสม่ำเสมอ จะก่อประโยชน์แก่ตัวเขาเองอย่างเอนกอนันต์ ทำให้จิตใจของเขาสะอาดบริสุทธิ์ ขจัดความหมองหม่นทางอารมณ์ ทำลายความตึงเครียด ทำให้เป็นคนที่เคร่งครัดในระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา มีความซื่อสัตย์ สุจริต อดทน และจิตใจสำรวมระลึกอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า ตลอดเวลา

               เมื่อจิตใจสำรวมอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า และระลึกถึงแต่พระองค์ ก็ไม่มีโอกาสที่จะคิดทำความชั่วต่างๆ คิดแต่จะปฏิบัติ ตามคำบัญชาและบทบัญญัติของพระองค์ ไม่กล้าทำความผิด และฝืนบทบัญญัติของพระองค์ อัลกุรอานระบุไว้ ความ
" จงละหมาดสม่ำเสมอเถิด เพราะแท้จริงละหมาด สามารถยับยั้งความชั่วและความผิดได้ "
                                                             ( 29 : 45 )
               ผู้ปฏิบัติละหมาด ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

               1. เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม
               2. บรรลุนิติภาวะตามบทบัญญัติอิสลาม
               3. มีสติสัมปชัญญะ
               4. มีความสะอาด ทั้ง ร่างกาย เสื้อผ้า และ สถานที่
               การทำความสะอาด

               การทำความสะอาดตามศาสนบัญญัติ หมายถึง การปลดเปลื้องสิ่งสกปรก ออกจากร่างกายให้หมดสิ้น และชำระร่างกายให้สะอาด
3. การจ่ายซะกาต

               ซะกาต คือ ทรัพย์จำนวนหนึ่งที่ได้กำหนดไว้เป็นอัตราส่วน จากจำนวนทรัพย์ที่เจ้าของทรัพย์ได้มา จนครบพิกัดที่ศาสนาได้บัญญัติไว้ และนำทรัพย์จำนวนนั้น จ่ายออกไปแก่ผู้มีสิทธิ์

               คำว่าซะกาต แปลว่า ความเจริญก้าวหน้า และการขัดเกลาให้สะอาด เนื่องเพราะเมื่อเจ้าของทรัพย์ ได้จ่ายซะกาตออกไป เท่ากับเป็นการขัดเกลาจิตใจให้สะอาด ปราศจากกิเลสนานาประการ โดยเฉพาะความตระหนี่ ความใจแคบ ซึ่งเป็นกิเลสใหญ่ชนิดหนึ่ง ที่เป็นสาเหตุสำคัญให้สังคมอยู่กันอย่างเห็นแก่ตัว ไม่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แน่นอน สังคมที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ไม่นานวิกฤติการณ์ก็จะต้องเกิดแก่สังคมนั้น การแก่งแย่ง ฉกชิง กดขี่ ข่มเหง ขูดรีด ทำลายกัน และอาชญากรรมต่างๆ จะต้องอุบัติขึ้น

               การจ่ายซะกาต จะทำให้สังคมเจริญก้าวหน้า คนยากใจมีโอกาสได้รับการช่วยเหลือ การสังคมสงเคราะห์ จะกระจายออกไปอย่างกว้างขวาง สถาบันทางสังคมได้รับการพัฒนา รวมทั้งผู้ยากไร้ที่หมดทุนในการประกอบอาชีพ หรือ ไม่มีทุนศึกษาต่อ ก็มีโอกาสที่จะใช้ซะกาต เจือจุนสร้างชีวิตใหม่ แก่ผู้ขาดแคลนและผู้ยากไร้เหล่านั้น

               ระบบซะกาต หากนำมาดำเนินการอย่างเต็มระบบแล้ว จะมีผลในทางพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา ด้านการทหาร ด้านการเมือง และด้านสังคม ตลอดจนด้านอื่นๆ ที่ขาดแคลนทุนโดยตรง

               เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สังคมมนุษย์อันประกอบด้วยสมาชิกสังคมเป็นจำนวนมากนั้น ย่อมต้องมีสมาชิกบางส่วน ประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ จนไม่สามารถช่วยตัวเองได้ หากซะกาตไม่มีในสังคมนั้น ผู้ประสบปัญหาดังกล่าว ก็จะกลายเป็นสมาชิกส่วนเกินของสังคม อาจจะกลายเป็นอาชญากรหรือเป็นขอทานได้เท่าๆ กัน ซึ่งคนทั้งสองประเภทนี้ เป็นบุคคลที่สังคมไม่พึงปรารถนา เป็นเศษขยะของสังคม และเป็นผู้บ่อนทำลายความสงบสุขของสังคม

               ผู้มีฐานะดีทั้งหลาย เมื่อมีอัตราส่วนที่จะนำออกมาโดยซะกาต ก็ย่อมแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

               การจ่ายซะกาตนั้น มิใช่จ่ายแบบ มิใช่แบบ "ให้ทาน" แต่เป็นการจ่ายไปเพื่อให้ผู้รับ ได้นำไปเป็นทุนดำเนินการ ทางด้านอาชีพหรือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของตัวเอง เป็นลักษณะการจ่ายแบบ "การสังคมสงเคราะห์" ซึ่งระบบซะกาตนี้ เป็นระบบที่สามารถประกันสังคมได้อย่างแน่นอน
 4. การถือศีลอด - ถือบวช

               การถือศีลอดหรือการถือบวช ภาษาอาหรับใช้คำว่า "อัศเซาม์" หรือ "อัศศิยาม" ความหมายเดิม หมายถึง การงดเว้น การระงับ การหักห้ามตัวเอง ในนิยามศาสนบัญญัติ หมายถึง "การงดเว้นสิ่งที่จะทำให้การถือศีลอด เป็นโมฆะตามศาสนบัญญัติ โดยเริ่มตั้งแต่เวลาแสงอรุณขึ้น จวบถึงตะวันตกดิน"

               การถือศีลอดที่บังคับให้กระทำนั้น มีเฉพาะในเดือนรอมฎอนเท่านั้น ส่วนในวาระอื่นๆ ไม่ได้บังคับ แต่ประการใด
ผลจากการถือศีลอด นำไปสู่คุณธรรมนานาประการ   อาทิเช่น
               1. แสดงให้ประจักษ์ชัดถึงความเสมอภาคทางสังคม ไม่ว่าบุคคลจะมีฐานะ ตำแหน่ง ยศฐาบรรดาศักดิ์ สูงต่ำอย่างไร ก็จะต้องถือศีลอดเหมือนกันหมด ไม่มีการแบ่งชนชั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการลดช่องว่างระหว่างชนชั้น โดยตรง

               2. สามารถควบคุมจิตใจของตนเองได้

               3. มีความซื่อสัตย์สุจริต แม้จะหิวแสนหิว กระหายน้ำ สักปานใดก็ตาม ก็ไม่แอบไปรับประทานและดื่ม

               4. มีความอดทนอดกลั้น เพราะขณะถือศีลอดนั้น ร่างกายมีความอ่อนเพลียมาก แต่ก็สามารถอดทน จนครบเวลาของมัน โดยไม่ย่อท้อ ไม่เหนื่อยหน่าย ไม่บ่น ไม่วิตก ไม่โมโห และไม่แสดงความอ่อนแอ

               5. มีคุณธรรม มีความสำรวมตนเองและยำเกรงพระเจ้า ไม่ประพฤติผิด  ในขณะถือบวช ตัวเองจะรู้สึกขยะแขยง รังเกียจการกระทำความชั่วสามานย์ทั้งปวง และจิตใจเบิกบานในการประกอบคุณธรรมความดี ผู้ถือศีลอดจึงชอบอ่านอัลกุรอาน ชอบทำละหมาด ชอบทำบุญทำทาน

               6. มีจิตเมตตาสงสาร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น เพราะผู้ถือศีลอด รู้รสของความหิวกระหายว่า มีความทรมานขนาดไหน คนที่ยากจนกว่าเขา เมื่อหิวอย่างที่สุดแล้ว ได้เวลารับประทานอาหาร แทนที่จะมีอาหารอย่างดี บางคนก็มีอาหารพอประทังชีวิตเท่านั้นและเป็นอาหารที่ขาดคุณค่า เพราะความยากจน ส่วนตัวเขาเอง เมื่อถึงเวลารับประทาน แม้จะหิวสักปานใด ก็มีอาหารอย่างดีมากมายเต็มโต๊ะอาหาร ซึ่งความจริงแล้ว ในช่วงเวลาของความหิวกระหายนั้น ไม่ว่าจะยากดีมีจน ก็ตกอยู่ในสภาพทรมานเหมือนกันนั่นเอง

               7. มีความสำนึกในความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า และซาบซึ้งต่อพระองค์ยิ่งนัก เพราะสภาพทรมานจากความหิว เมื่อได้เวลารับประทาน เขาก็จะตระหนักถึงคุณค่าของอาหารว่ามีมากมายเหลือเกิน และอาหารที่ได้รับประทานนั้น เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงประทานมาให้ ส่วนในช่วงเวลาที่เขาไม่ได้ถือศีลอด เขาไม่เคยตระหนักถึงคุณค่าของอาหาร ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่เขา เขากิน เขาดื่ม อย่างฟุ่มเฟือย เหลือทิ้งมากมาย เพราะเขามีอาหารล้นเหลือ จะกินเวลาใด ก็สามารถกินได้ตลอดเวลา

               8. มีระเบียบวินัย และฝึกให้ตรงต่อเวลา เพราะการถือศีลอด มีเงื่อนไขให้ทุกคนปฏิบัติอยู่ในกรอบ แห่งความประพฤติอันดีงามมากมาย จะรับประทานก็ต้องตรงต่อเวลา จะพูดจาหรือจะเคลื่อนไหว ก็ต้องระมัดระวัง พลังกุศลแห่งการถือศีลอดจะบกพร่องไป

               คุณธรรมทั้งหลายอันได้มาจากการถือศีลอดนั้น ที่สุดก็รวมอยู่ในความยำเกรงพระเจ้า ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมคุณธรรมทั้งปวง ดังนั้น อัลกุรอานจึงมีโองการไว้ในบทที่ 2 โองการที่ 183 ความว่า
               "เหล่าผู้ศรัทธาเอ๋ย การถือศีลอดได้บัญญัติแก่สูเจ้า ประดุจเดียวกับที่ได้บัญญัติไว้แก่ประชาชนก่อนสูเจ้า ทั้งนี้เพื่อสูเจ้าจักได้ยำเกรง"
        
               คุณสมบัติของผู้ถือศีลอด 

               ผู้ที่ศาสนาบังคับให้ถือศีลอด จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

               1. เป็นมุสลิม
               2. บรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ
               3. มีสติสัมปชัญญะ
               4. มีสุขภาพสมบูรณ์ ไม่ป่วยไข้หรือชราภาพ
               5. ไม่อยู่ระหว่างการเดินทาง
               บุคคลผู้ได้รับการผ่อนผัน ไม่ต้องถือศีลอด

               บุคคลที่ศาสนาผ่อนผัน ไม่ต้องถือศีลอด มีดังต่อไปนี้

               1. ผู้ป่วยไข้ธรรมดา ให้ถือศีลอดชดเชย เมื่อหายจากป่วยเป็นปกติ

               2. ผู้ป่วยไข้เรื้อรัง จนไม่มีโอกาสหาย ให้จ่ายอาหารหลักประจำวัน เช่น ข้าวสาร แก่คนยากจน วันละ 1 ทะนาน จนครบวัน

               3. ผู้เดินทาง ให้ถือศีลอดชดเชย เมื่อหมดสภาพการเดินทาง

               4. ผู้ชรา ให้จ่ายอาหารหลักประจำวัน วันละ1 ทะนาน แก่คนยากจน

               5. หญิงมีครรภ์ ให้จ่ายอาหาร วันละ 1 ทะนาน แก่คนยากจนแทน พร้อมกับถือศีลอดชดเชย ในกรณีไม่ถือศีลอด เพราะกลัวจะเกิดอันตรายแก่ลูก และหากกลัวอันตรายจะเกิดแก่ตัวเอง ให้ชดเชยโดยไม่ต้องจ่ายอาหารแก่คนยากจน

               6. หญิงแม่ลูกอ่อน ให้จ่ายอาหารแก่คนยากจน วันละ 1 ทะนาน พร้อมกับถือศีลอดชดเชย ในกรณีไม่ถือศีลอด เพราะกลัวจะเกิดอันตรายแก่บุตร และหากกลัวอันตรายจะเกิดแก่ตัวเอง ให้ชดเชย โดยไม่ต้องจ่ายอาหาร
               ข้องดเว้นของผู้ถือศีลอด

               1. การรับประทานอาหาร การดื่ม
               2. การนำสิ่งภายนอกเข้าสู่อวัยวะภายในร่างกาย
               3. การแสดงกิจกรรมทางเพศ
               4. การอาเจียนโดยตั้งใจ
               ข้อปฏิบัติของผู้ถือศีลอด

               1. รักษาข้องดเว้นต่างๆ อย่างเคร่งครัด หากผิดข้อใด ถือว่าศีลอดวันนั้นเป็นโมฆะ
               2. ปฏิบัติศาสนกิจและการกุศลให้มาก เช่น ละหมาด อิอฺติก๊าฟ อ่านอัลกุรอาน
               3. ให้สำรวมตน สำรวมใจ และ สำรวมวาจา อยู่ตลอดเวลา
 5. การบำเพ็ญฮัจญ

               การบำเพ็ญฮัจญ์หรือประกอบพิธีฮัจญ์ เป็นศาสนกิจประการสุดท้ายในหลักปฏิบัติพื้นฐาน เป็นศาสนกิจที่สรุปไว้ ซึ่งอุดมการณ์ทางสังคม อย่างครบบริบูรณ์

               การที่มุสลิมจากทั่วมุมโลก เดินทางจากที่อยู่อาศัยของตนเอง ไปสู่พิธีฮัจญ์ เป็นประจำติดต่อกันมาถึง 1,400 กว่าปี นับเป็นกิจกรรมที่มีความมหัศจรรย์และมีพลังอันแกร่งกล้าทางศรัทธายิ่งนัก สำนึกของผู้เดินทางไปสู่พิธีฮัจญ์ เป็นสำนึกเดียวกัน จากจิตวิญญาณที่ผนึกกันเป็นดวงเดียวกัน แม้จะมาจากถิ่นฐานอันแตกต่างกัน มีภาษาผิดแผกกัน มีสีผิวไม่เหมือนกัน มีฐานะต่างกัน มีตำแหน่งทางสังคมไม่เท่ากัน แต่เมื่อทุกคนเดินทางมาสู่ศาสนกิจข้อนี้ สิ่งเหล่านั้นถูกทิ้งไปโดยสิ้นเชิง ทุกคนซึ่งมีอำนาจมหาศาล แต่ก็ร่วมกิจกรรมเดียวกัน โดยไม่รังเกียจเดียจฉันท์ ไม่มีความโกรธ เกลียดซึ่งกันและกัน

               คนเป็นจำนวนล้าน ไปรวมกันอยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่ไม่มีเรื่องขัดแย้งกัน ทุกคนมีใบหน้าอันยิ้มแย้ม ทักทายซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือกันอย่างไม่ถือเขาถือเรา ผิดพลาดล่วงเกินกันบ้าง ก็พร้อมที่จะให้อภัยแก่กันและกัน

               ไม่มีใครปลุกเอาเงื่อนไขอันแตกต่างกัน มาเป็นปัจจัยที่จะสร้างความรู้สึกและเน้นให้เห็นความแตกต่างนั้น จนกลายเป็นกรณีแบ่งแยกระหว่างกลุ่ม และแท้จริงนั้นความแตกต่างดังกล่าว ไม่มีใครสนใจเลยแม้แต่น้อย

               ทุกคนมีดวงใจที่ยอมสยบต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง ยอมจำนนต่อพระองค์โดยไม่มีเงื่อนไข การปฏิบัติทุกประการ เป็นไปตามบทบัญญัติอันประกาศิตของพระองค์ ถึงแม้การปฏิบัตินั้นในสายตาของมนุษย์ทั่วไป จะมองไม่เห็นเหตุผล แต่สำหรับมุสลิมแล้ว การปฏิบัตินั้นมีความหมายสำหรับชีวิตมาก ทุกคนไม่ถือเอาเหตุผลเป็นเป้าหมายในการปฏิบัติ เป้าหมายก็คือ การปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เป็นการแสดงความเคารพและการนมัสการต่อพระองค์ ด้วยสุจริตใจ จริงใจ และบริสุทธิ์ใจ มุสลิมมิได้กราบไหว้เหตุผล แต่มุสลิมกราบไหว้พระผู้เป็นเจ้า

               มุสลิมทุกคนมีความสุขที่ได้กราบไหว้และปฏิบัติตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า มาตรแม้นการปฏิบัตินั้น จะเหนื่อย จะสิ้นเปลือง หรือมองดูไม่มีประโยชน์หรือไร้เหตุผล ในสายตาของคนทั่วไปที่มิใช่มุสลิม แต่เหตุผลอันเป็นสัจธรรม ก็เป็นสิ่งต่างคนต่างคิดกันเองตามพื้นฐานปัญญาอันแตกต่างกันไป การได้ปฏิบัติตามพระบัญชานั้นแหละ คือ เหตุผลในการกระทำของมุสลิมทุกคน

               เมื่อทุกคนได้ทำการเดินเวียนอยู่กะอฺบะฮฺ คลื่นมนุษย์จำนวนนับล้านที่เคลื่อนไหวอยู่รอบกะอฺบะฮฺนั้น เป็นประหนึ่งสัญญาณแสดงให้เห็นว่า มุสลิมทุกคนที่นมัสการต่อพระผู้เป็นเจ้า จะต้องเคลื่อนไหวอยู่เสมอ จะหยุดอยู่กับที่ จะทำตัวเป็นคนไร้พลังไม่ได้

               การเดินรอบกะอฺบะฮฺ มิใช่การทำนมัสการต่อวัตถุนั้น กะอฺบะฮฺเป็นวัตถุอาคารสี่เหลี่ยมสีดำทมึน ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ ใจกลางแห่งพื้นลานซึ่งรายรอบด้วยมัสญิดอัลหารอม ถูกสร้างขึ้นไว้นับเป็นจำนวนพันๆ ปี ตลอดเวลาจะมีผู้คนมาเดินเวียน ไม่เคยขาด สิ่งนี้มิใช่พระเจ้า เป็นเพียงอาคารที่จะทำให้ระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น เป็นจุดศูนย์รวมดวงใจของมุสลิมทั่วโลก เมื่อผู้ใดมาถึง ก็จะมีความรู้สึกประหวัดไปถึงบรรพบุรุษทางศรัทธาของมุสลิม อันมีจำนวนมหาศาล ทำให้ทุกคนตระหนักว่า ตัวเขาหาได้เดียวดายไม่ ยังมีเพื่อนและพี่น้องทางศรัทธาอีกมากมายนัก

               เมื่อมุสลิมได้เข้าไปจูบหินดำที่ประดิษฐานอยู่ ณ มุมหนึ่งของกะอฺบะฮฺ หินดำนี้ก็มิใช่พระเจ้า และการจูบหินดำ ก็หาใช่การกราบไม่ แท้จริงแล้วเป็นการประทับร่องรอยแห่งทายาททางศรัทธาที่รวมกันอยู่ ณ วัตถุชิ้นเล็กๆ นี้ มุสลิมจำนวนมหาศาลในปัจจุบัน ได้มาจูบหินนี้ เช่นเดียวกับบรรพบุรุษทางศรัทธาที่ล่วงลับไปแล้วจำนวนไม่น้อย เป็นประจักษ์พยานว่า มุสลิมทุกคนจะต้องรู้จักกัน จะสัมพันธ์กันอย่างสนิทแน่นแฟ้น จนไม่มีอะไรมาพรากจากกันได้ รอยจูบที่ทุกคนมาประทับไว้ ณ หินดำชิ้นเล็กๆ นี้ จึงมีความหมายยิ่งใหญ่ สำหรับมุสลิมทุกคน

               การชุมนุมกัน ณ ทุ่งอารอฟะฮฺก็ดี การเดินทางออกจากนั้น แปรมาสู่มุซดะลิฟะฮฺ พักเก็บลูกหิน มาถึงทุ่งมินา และใช้ลูกหินที่เตรียมไว้นั้น ขว้างเสาหินสามต้นก็ดี การกระทำเหล่านี้ เป็นรหัสอันยิ่งใหญ่สำหรับมุสลิมทุกคน ที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า ต่อบรรพบุรุษทางศรัทธา ต่อพี่น้องร่วมศรัทธาในปัจจุบัน และต่อมนุษยชาติทั้งปวง
               คุณสมบัติของผู้บำเพ็ญฮัจญ์

               1. เป็นมุสลิม
               2. บรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ
               3. มีสติสัมปชัญญะ
               4. มีสุขภาพดี
               5. เส้นทางระหว่างเดินทางปลอดภัย
               6. มีทุนเพียงพอในการเดินทาง การใช้จ่ายระหว่างประกอบพิธีฮัจญ์ และค่าใช้จ่ายของครอบครัวทางบ้าน

               สำหรับผู้หญิง ถ้าจะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ไม่อนุญาตให้เดินทางไปคนเดียว นอกจากต้องมีผู้ปกครอง สามี หรือ ญาติใกล้ชิดที่แต่งงานกันไม่ได้ เดินทางร่วมไปด้วย 


ที่มา : piwdee.net 
Jazakallahilkhair  ..Asyik

Digg Google Bookmarks reddit Mixx StumbleUpon Technorati Yahoo! Buzz DesignFloat Delicious BlinkList Furl

0 comments: on "หลักปฏิบัติ"

แสดงความคิดเห็น