This is Islam

5/29/2553

อีหม่านอ่อน : โรคระบาดอันดับหนึ่ง

อีหม่านอ่อน : โรคระบาดอันดับหนึ่ง

สมรภูมิที่น่ากลัวที่สุดสำหรับมนุษย์ ไม่ใช่สมรภูมิที่ใช้อาวุธเข้าห้ำหั่นกัน แต่เป็นการรบกับอารมณ์ฝ่ายต่ำของเขาเองหรือที่รู้จักกันโดยมุสลิมทั่วไปว่า "ฮาวา นัฟซู" ประกอบไปด้วยความปรารถนา กิเลส ตัณหาต่างๆ การต่อสู้ครั้งนี้สำคัญใหญ่หลวง เพราะต้องเดิมพันกันด้วยสถานะชีวิตของคนๆนั้นเลยทีเดียว ดังนั้นจึงมีผู้เรียกสมรภูมิครั้งนี้ว่า "ญิฮาด อักบัร" หรือญิฮาดใหญ่
ญิฮาด อักบัร เป็นการต่อสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็นที่ซ่อนอยู่ภายในตัวมนุษย์เอง ด้วยลักษณะของศัตรูที่ซ่อนเร้นและอยู่ใกล้ชิดอย่างที่สุด เป็นผลให้การต่อสู้มักจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของมนุษย์
ความเข้าใจเบื้องต้นต่อกระบวนการต่อสู้กับ "ฮาวา นัฟซู" ในอิสลามก็คือ มันไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อตัดอารมณ์และความรู้สึกต่างๆให้หมดไป แต่ต้องการเข้าไปควมคุมมันไว้และสั่งการมันได้ จึงไม่แปลกที่กระบวนการต่อสู้ไม่ได้มุ่งไปที่ "การทำลาย" แต่มุ่งไปที่ "การสยบและควบคุม"

เครื่องมือที่สำคัญที่สุดที่จะจัดการตัวตนภายในก็คือ "หัวใจ" เพราะหัวใจคือ "ศูนย์รวม" ในการกำหนดทิศทาง เจตนารมณ์ต่างๆ หัวใจในที่นี้ไม่ใช่หัวใจที่เรารู้จักกันทางกายภาพ แต่มันหมายถึงหน่วยหลักในการตัดสินใจ เพราะฉะนั้น หัวใจจำเป็นต้องได้รับ "พลัง" ที่อัดฉีดเข้าไปภายใน นั่นคือพลังที่เราเรียกว่า "อีหม่าน" หรือ "ศรัทธา"
อีหม่านจึงนับว่ามีบทบาทสำคัญที่สุดในการสร้างหัวใจให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้หัวใจเข้ามาทำหน้าที่ควบคุมตัวตนภายในได้ อีหม่านที่มีอยู่เพียงในระดับความคิดนั้น ไม่สามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงตัวตนของคนๆหนึ่งได้ อีหม่านจะต้องซึมซับเข้าสู่หัวใจอย่างต่อเนื่อง เมื่อใดก็ตามที่อีหม่านไม่ผ่านเข้าไปสู่หัวใจก็จะเกิดภาวะ "อีหม่านอ่อน" ขึ้น หรือเราจะเรียกได้ว่าเป็นโรคอีหม่านอ่อนหรือ โรคหัวใจแข็งกระด้าง

ท่านนบีฯ ได้กล่าวว่า
((إنَّ اْلإِيْمَانَ لَيَخْلُقُ فِيْ جَوْفِ أَحَدِكُمْ كَمَا يَخْلُقُ الْثَوْبُ فَأَسْأَلُوْا اللهَ أَنْ يُجَدِّدَ اْلإِيْمَانَ فِيْ قُلُوْبِكُمْ))
แท้จริงอีหม่านในหัวใจของพวกท่านคนหนึ่งคนใดจะทรุดโทรม เช่นเดียวกับเสื้อผ้าที่สวมใส่จนเสื่อมสภาพ ดังนั้น พวกท่านจงขอต่ออัลลอฮฺ เพื่อให้พระองค์ทำให้อีหม่านมีสภาพใหม่อยู่ในหัวใจของพวกท่าน [1]

((مَا مِنَ الْقُلُوْبِ قَلْبٌ إِلاَّ وَلَهُ سَحَابَةٌ كَسَحَابِةِ الْقَمَرِ ، بَيْنَا الْقَمَرُ مُضِيءٌ إِذْ عَلَتْهُ سَحَابَةٌ فَأَظْلَمَ ، إِذْ تَجَلَّتْ عَنْهُ فَأَضَا))
ไม่มีหัวใจดวงใด เว้นเสียแต่จะมีเมฆ(ที่จะมาบดบังมัน) เช่นเดียวกับเมฆ(ที่บดบัง)ดวงจันทร์ ขณะที่มันส่องแสงนั้น เมื่อมีเมฆมาบดบังมันๆก็จะมืดมิด เมื่อเมฆจากไป มันก็จะส่องสว่างอีกครา [2]
หลักการพื้นฐานที่สำคัญในการทำความเข้าใจประเด็นเกี่ยวกับอีหม่านอ่อนและกรอบความคิดในการบำบัดมันคือต้องรู้ว่าอีหม่าน(ความศรัทธา)ในทัศนะของอิสลามนั้นสามารถ "เพิ่ม" หรือ "ลด" ได้ สิ่งนี้เป็นหลักการมูลฐานในหลักยึดมั่นของ "อะหฺลุซ ซุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ" อันเป็นกระแสหลักของประชาชาติอิสลามส่วนใหญ่ที่ยอมรับกัน

อะหฺลุซ ซุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ นั้นถือว่าอีหม่านคือสิ่งที่กล่าวออกมาด้วยวาจา ยึดมั่นด้วยหัวใจ และมีการกระทำผ่านหลักปฏิบัติอิสลามต่างๆ อีหม่านสามารถ "เพิ่ม" ได้ด้วยการฏออะฮฺ(เชื่อฟังปฏิบัติตามหลักการอิสลาม)และ "ลด" ลงได้จากการฝ่าฝืน(หลักการอิสลาม) ดังมีหลักฐานที่แสดงไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ในอัล กุรอานไว้หลายที่ ดังตัวอย่างเช่น

((لِيَزْدَادُوا إِيمَانًا مَعَ إِيمَانِهِمْ))
เพื่อพวกเขาจะได้เพิ่มพูนการศรัทธาให้กับการศรัทธาของพวกเขา[3]

มีข้อคิดที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้จากคำกล่าวของชาวสลัฟบางคนที่ว่า "ส่วนหนึ่งจากความเข้าใจในศาสนาของบ่าวคนหนึ่ง(ก็คือ) การให้ความสนใจต่ออีหม่านว่ามันลดไปได้อย่างไร? และส่วนหนึ่งจากความเข้าใจในศาสนาของบ่าวคนหนึ่ง (ก็คือ) การที่เขารู้ว่าตอนนี้มันเพิ่มหรือลด?ส่วนหนึ่งจากความเข้าใจของบ่าวคนหนึ่ง(ก็คือ) การรู้ถึงการล่อลวงของชัยฏอนเมื่อมันมายังเขา"

ต่อไปเราจะมาศึกษาอาการ สาเหตุ และนำไปสู่การบำบัดรักษาจนหายขาด อินชาอัลลอฮฺ

1. วิเคราะห์อาการอีหม่านอ่อน
อาการอีหม่านปรากฏทั้งภายในและภายนอก ปรากฏทั้งส่วนบุคคลและส่งผลร้ายต่อสังคม ผลกระทบของอีหม่านอ่อนสามารถแบ่งออกเป็น 4 ด้าน(พร้อมตัวอย่าง) ดังต่อไปนี้

ด้านที่หนึ่ง : วิเคราะห์อาการจากพฤติกรรมทั่วไป
1. กระทำบาปและสิ่งต้องห้ามต่างๆ
2.ทำอิบาดะฮฺอย่างลวกๆ
3. เกียจคร้านในการทำความดีทั้งหลาย
4. มองไม่เห็นค่าของความดีเล็กๆน้อยๆ และไม่เห็นอันตรายของความผิดเล็กน้อย
5. เอาแต่พูด แต่ไม่ค่อยกระทำ

ด้านที่สอง : วิเคราะห์อาการจากความรู้สึกภายใน
6. ยึดความรู้สึกตนเป็นใหญ่
7.หัวใจแข็งกระด้าง
8. อ่านอัล กุรอานอย่างไร้ความรู้สึก
9. รำลึกถึงอัลลอฮฺ แต่รู้สึกเฉย ๆ
10. คับแค้นใจ อารมณ์แปรปรวน และซึมเศร้า
11. ไม่รู้สึกโกรธ เมื่อมีการละเมิดในสิ่งที่อัลลอฮฺห้าม
12. กลัวทุกข์ภัยและปัญหาต่างๆที่ต้องประสบ

ด้านที่สาม: วิเคราะห์อาการจากความกระหายใคร่อยากต่าง ๆ
13. รักในชื่อเสียงและความโด่งดัง ตัวอย่างเช่น
13.1 กระหายตำแหน่งผู้นำ แข่งขันกันแสวงหาอำนาจ
13.2 เผด็จการในวงสนทนา คือชอบพูดข้างเดียว ไม่ชอบฟังคนอื่นพูด
13.3 ชอบให้ผู้คนยกย่อง ไม่พอใจหากไม่ได้รับคำเยินยอ
14. ตระหนี่ถี่เหนียว และมีความโลภ
15.หมกมุ่นกับโลกนี้
16. ใช้ชีวิตอย่างสำราญ

ด้านที่สี่: วิเคราะห์อาการจากความสัมพันธ์ทางสังคม
17. ไม่สนใจในกิจการของมุสลิม
18. มีความสุขกับความทุกข์ของพี่น้อง
19. ชอบทะเลาะถกเถียงกัน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาที่ไม่สำคัญ
20. ชอบแบ่งเป็นฝักฝ่าย จนเกิดความแตกแยกระหว่างพี่น้องมุสลิม
21. ขาดสำนึกในการทำงานอิสลาม
เราสังเกตจากทั้ง 4 ด้าน จะพบว่าอีหม่านอ่อนไม่ได้เป็นเรื่อง "อ่อนๆ" แต่เป็นเรื่อง "หนักหนา" เพราะไม่ได้มีปัญหาพฤติกรรมส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังได้เข้าทำลายโครงสร้างพื้นฐานของสังคมอีกด้วย

2. สาเหตุหลัก
อีหม่านอ่อนมี "เหตุ" มาจากหลายด้าน ด้านหลัก ๆ ของมัน ประกอบไปด้วย
หนึ่ง - สัมผัส , สอง - ห่างไกล , สาม - หมกมุ่น ดังต่อไปนี้

หนึ่ง - สัมผัส
1. สัมผัสอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยบาป เช่น อยู่ในวงคอนเสริต์คาราบาว หรือนั่งดูมิวสิควิดีโอวง Girly Berry

สอง - ห่างไกล
1. ห่าง ไกลจากผู้คนแห่งอีหม่าน คือการไม่คบหากับคนดี ๆ
2. ห่างไกลจากการแสวงหาความรู้ เช่น ปี ๆ หนึ่งแทบจะไม่เคยฟังบรรยายธรรมเลย แม้แต่วันศุกร์ ก็ไปตอนเขากำลังจะละหมาดแล้ว

สาม - หมกมุ่น
1. หมกมุ่นอายุของชีวิต คือ คิดว่าตัวเองจะมีอายุอยู่ยืนนาน วางแผนจะหาแต่ความสุขในดุนยา ไม่คิดจะตายในเร็ว ๆ นี้
2. หมกมุ่นอยู่กับโลกนี้ เช่น ทรัพย์สิน การหาเงินทอง การแข่งขันกันเรื่องลูกหลาน
3. หมกมุ่นอยู่กับเพศตรงข้าม เช่น เรื่องการมีแฟน การหมดเวลาไปกับการสร้างเสน่ห์แก่เพศตรงข้าม

3. วิธีบำบัดขั้นพื้นฐาน
การบำบัดพื้นฐาน ต้องเข้าไปแก้ไข "เหตุ" หลัก ๆ ของมันทั้งสามด้าน ดังนั้นการบำบัดพื้นฐานก็ประกอบไปด้วย 3 ด้านเช่นกัน คือ
หนึ่ง - แยกทาง , สอง - ใกล้ชิด, สาม - รำลึก
แยกทาง 1. แยกทางกับสิ่งแวดล้อมที่บาป คือตัดขาดกับสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายต่าง ๆ กล่าวง่าย ๆ ต้อง "ฏอลาก"(หย่า) เอาแบบหย่า 3 เลยยิ่งดี
ใกล้ชิด
1. ใกล้ชิดกับผู้คนแห่งอีหม่าน คือหันมาคบหาสมาคมกับคนดี ๆ เข้าร่วมกลุ่มคนทำงานอิสลามด้วยยิ่งดีใหญ่
2. ใกล้ชิดกับความรู้อิสลาม เช่น หาที่เรียนอิสลามเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ตามที่องค์กรต่าง ๆจัดขึ้น
รำลึก
1. รำลึกถึงความตาย เช่น เยี่ยมผู้ป่วย เยี่ยมกุบูรฺ เป็นต้น
2. รำลึกถึงความต่ำต้อยของโลกนี้ คือการครุ่นคิดถึงชีวิตที่ไม่ยั่งยืนและไม่แน่นอนของโลกนี้
3. รำลึกถึงวันสิ้นโลก และชีวิตหลังความตาย(คำแนะนำ ศึกษาง่าย ๆ จากความหมายอัล-กุรอานในยูซอัมมา)
การบำบัดทั้งสามด้านนี้เป็นการ "แยกทาง" กับพื้นที่ที่ทำให้ติดเชื้ออีหม่านอ่อน แล้วนำตัวเองไป "ใกล้ชิด" หรืออยู่อาศัยในเขตปลอดเชื้อ และจัดระบอบความคิดใหม่ ด้วยการ "รำลึก" สิ่งต่าง ๆ ที่ช่วยขจัดเชื้อที่หลงเหลืออยู่ พร้อม ๆ กับนำไปสู่การบำบัดที่ยั่งยืนต่อไป

4. วิธีบำบัดรักษาระยะยาว
การบำบัดรักษาระยะยาว คือการเสริมสร้างอีหม่านให้แข็งแกร่ง จำเป็นต้องอาศัย "กระบวนการ" ที่เอาจริงเอาจัง ในที่นี่ขอแนะนำการการฝึกอบรมที่เข้มข้นใน 3 เรื่องต่อไปนี้

4.1 ให้หัวใจเข้าหาอัล-กุรอาน
ท่านอิบนุ กอยยิม ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับนำหัวใจกลับสู่อัล-กุรอานเอาไว้ว่า
"มีพื้นฐาน 2 ข้อ(ในการรักษาอาการอีหม่านอ่อน)ที่ขาดเสียมิได้ หนึ่งก็คือให้ท่านเคลื่อนหัวใจของท่านจากที่พำนักในโลกนี้ และให้มันไปสถิตอยู่ในที่พำนักแห่งโลกหน้า หลังจากนั้นให้นำหัวใจของท่านทั้งหมดจดจ่ออยู่กับความหมายอัล กุรอานและความกระจ่างในนั้น เพ่งพินิจและสร้างความเข้าใจในความมุ่งหมายของมัน ว่ามันถูกประทานมาเพื่อเป้าหมายอันใด นำตัวท่านเข้าไปมีส่วนร่วมในทุก ๆ อายะฮฺ แล้วกำหนดมันให้เป็นยาเพื่อบำบัดหัวใจของท่าน เมื่ออายะฮฺนี้ได้ถูกนำไปเป็นยาบำบัดหัวใจของท่านแล้ว หัวใจของท่านก็จะปราศจากโรคร้าย ด้วยการอนุมัติจากอัลลอฮฺ "

การบำบัดของอัล-กุรอานนั้น ต้องนำหัวใจไปอยู่กับความหมายที่ลึกซึ้งของมัน ท่านนบีเคยใคร่ครวญความหมายในอัล กุรอาน โดยท่านได้อ่านมันซ้ำแล้วซ้ำอีกขณะที่กำลังยืนขึ้นละหมาดในยามค่ำคืน(ละหมาดกิยามุล ลัยลฺ)
ท่านอบูบักรเป็นผู้ชายที่นุ่มนวล มีจิตใจที่อ่อนโยน เมื่อท่านนำผู้คนละหมาด และอ่านดำรัสของอัลลอฮฺจากอัล กุรอาน ท่านไม่สามารถควบคุมตัวเองจากการร้องไห้ได้
แน่นอนที่สุด บรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบีนั้น อ่านอัล กุรอาน เพ่งพิจารณาเนื้อหาในนั้น และเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวพวกเขา ...

อัล กุรอานนั้น เป็นยาบำบัดที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง ดังที่อัลลอฮฺได้ยืนยันไว้ว่า
((وَنُنَزِّلُ مِنَ الْقُرْآنِ مَا هُوَ شِفَاءٌ وَرَحْمَةٌ لِلْمُؤْمِنِينَ))
และเราได้ให้ส่วนหนึ่งจากอัล กุรอานลงมาซึ่งเป็นการบำบัดและความเมตตาแก่บรรดาผู้ศรัทธา[4]

4.2 ให้หัวใจผูกพันกับอัลลอฮฺ
ท่าน อิบนุ กอยยิม ได้กล่าวว่า "ในหัวใจที่แข็งกระด้าง ไม่สามารถทำให้อ่อนโยนได้อีก เว้นแต่ด้วยการซิกรฺ ฉะนั้น บ่าวคนหนึ่งที่ต้องการเยียวยาอาการหัวใจแข็งกระด้างก็ให้ใช้การซิกรฺเถิด

ชายคนหนึ่งได้กล่าวกับท่านฮะซัน อัล บัศรียฺว่า 'โอ้ อบูสะอีด ฉันมาร้องทุกข์กับท่านเรื่องหัวใจที่แข็งกระด้างของฉัน' ท่านตอบว่า 'จงทำให้มันอ่อนด้วยการซิกรฺเถิด' เพราะว่าหัวใจที่ยิ่งเพิกเฉยเท่าไร ก็ยิ่งแข็งกระด้างมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อมีการซิกรฺ หัวใจดวงนั้นก็อ่อนโยน เสมือนกับการเทตะกั่วลงไปในไฟ ไม่มีสิ่งใดอีกแล้วที่ทำให้หัวใจอ่อนโยนเท่ากับการซิกรฺ และการซิกรฺนั้นเป็นการบำบัดและเป็นยารักษาหัวใจ การเพิกเฉยต่อมันเป็นโรค ยาและการรักษามันก็คือการซิกรฺ
ท่านมะฮูลได้กล่าวว่า 'ซิกรฺ – การรำลึกถึงอัลลอฮฺ - นั้นเป็นการเยียวยา ส่วนการรำลึกถึงผู้คนนั้นเป็นโรค'" (อ้างจากอัล วาบิล อัศ เศาะยิบ และเราะฟิอฺ อัล กะลิม อัฏ ฏอยยิบ 142)

ชาวสลัฟบางคนได้กล่าวว่า "เมื่อซิกรฺสามารถเข้าไปฝังรากอยู่ในหัวใจแล้ว ถ้าชัยฏอนเข้ามาเมื่อใดเขาก็สามารถเอาชนะมันได้ ดังที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถทำให้ชัยฏอนที่เข้าใกล้เขาพ่ายแพ้ไป จากนั้นบรรดาชัยฏอนทั้งหลายต่างก็มารวมตัวกันรอบๆรอบตัวชัยฏอนตนนั้น พวกมันกล่าวว่า 'เกิดอะไรขึ้นกับเขา?' มีเสียงกล่าวขึ้นมาว่า 'มันได้รับอันตรายจากมนุษย์!'" (คัดจากมะดาริจญฺ อัส ซาลิกีน 2/424)

ซิกรฺมีคุณประโยชน์มากมาย ดังปรากฏทั้งในอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺ รวมทั้งคำแนะนำมากมายของเหล่าอุละมาอ์ชั้นนำของโลกมุสลิม กล่าวได้ว่า ไม่มีคนใดที่ต้องการความสุขแห่งชีวิต ไม่มีใครต้องการหัวใจที่นิ่งสงบ โดยปราศจากการซิกรฺได้
อัลลอฮฺได้ยืนยันถึง หัวใจที่ "มุฏมะอินนะฮฺ"(สุขสงบ) ก็ด้วยการ "ซิกรฺ" เท่านั้น
((أَلاَ بِذِكْرِ اللَّهِ تَطْمَئِنُّ الْقُلُوبُ))
พึงทราบเถิด! ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺเท่านั้นทำให้จิตใจสงบ [5]

4.3 เติมเต็มเวลาด้วยความดี
พฤติกรรมของผู้ที่มีอีหม่านที่สมบูรณ์นั้น คือการบูรณาการชีวิตทั้งหมดสู่ระบอบอิสลาม ดังนั้น ผู้ที่มีอีหม่านจึงนำความดีจากคำสอนอิสลามเติมเต็มลงสู่เวลาอย่างไม่มีช่องว่าง

การเติมเต็มดังกล่าวจึงต้องมีหลักการและศิลปะ ซึ่งอิสลามได้วางเรื่องนี้ไว้ 6 ประการ

1) เร่งรีบ – การทำความดี ไม่ควร "ตั้งท่า"มาก[6] และไม่ควรผัดวันประกันพรุ่ง ท่านนบีฯ ได้กล่าวว่า
((‏التُّؤَدَةُ ‏ ‏فِي كُلِّ شَيْءٍ إِلَّا فِي عَمَلِ الْآخِرَةِ))
การไม่ผลีผลามอยู่ในทุกสิ่ง ยกเว้นในการงานเกี่ยวกับวันอาคิเราะฮฺ(ให้รีบเร่งในการทำความดี)[7]

2) เกาะติด – ทำต่อเนื่อง แม้ว่าจะน้อยก็ตาม
มีรายงานว่า
((‏ سُئِلَ النَّبِيُّ ‏ ‏صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ‏ ‏أَيُّ الْأَعْمَالِ أَحَبُّ إِلَى اللَّهِ قَالَ ‏ ‏أَدْوَمُهَا وَإِنْ قَلَّ))
เมื่อท่านนบีฯ ถูกถามว่า "การงานใดที่อัลลอฮฺรักมากที่สุด?" ท่านตอบว่า "สิ่งที่กระทำอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะน้อยก็ตาม"[8]

3) ทุ่มเท – ทำอย่างสุดกำลังกาย กำลังใจ อัลลอฮฺได้ตรัสไว้เกี่ยวกับการทุ่มเทของบรรดาวะลียฺ(บ่าวที่พระองค์รัก)ในการกระทำอิบาดะฮฺไว้หลายๆที่ เช่น
((‏ كَانُوا قَلِيلًا مِنَ اللَّيْلِ مَا يَهْجَعُونَ وَبِالْأَسْحَارِ هُمْ يَسْتَغْفِرُونَ))
พวกเขาเคยหลับนอนแต่เพียงส่วนน้อยของเวลากลางคืน และในยามรุ่งสางพวกเขาขออภัยโทษ(ต่อพระองค์)[9]

4) ผ่อนคลาย – ต้องเรียนรู้ศิลปะการผ่อนกำลังจะทำให้รู้สึกดีและไม่อ่อนล้า
ท่านนบีฯ กล่าวว่า
((‏ إِنَّ الدِّينَ يُسْرٌ وَلَنْ ‏ ‏يُشَادَّ ‏ ‏الدِّينَ أَحَدٌ إِلَّا ‏ ‏غَلَبَهُ ‏فَسَدِّدُوا ‏ ‏وَقَارِبُوا))
แท้จริง ศาสนานั้นง่ายดาย จะไม่มีใครสามารถปฏิบัติศาสนกิจอย่างหนักหน่วงได้โดยไม่ลดหย่อน เว้นแต่ศาสนาจะชนะเขา(เขาไม่สามารถจะทำได้) ดังนั้นจงแสวงหาแนวทางที่ถูกต้อง และจงอยู่ในทางสายกลาง[10]

5) ชดเชย – หากพลาดไป ต้องหาทางชดเชย เพื่อไม่ให้เสียนิสัย
ท่านนบีฯ ได้กล่าวว่า
((‏ مَنْ نَامَ عَنْ ‏ ‏حِزْبِهِ ‏أَوْ عَنْ شَيْءٍ مِنْهُ فَقَرَأَهُ فِيمَا بَيْنَ صَلَاةِ الْفَجْرِ وَصَلَاةِ الظُّهْرِ كُتِبَ لَهُ كَأَنَّمَا قَرَأَهُ مِنْ اللَّيْلِ))
ใครก็ตามที่นอนหลับไป โดยลืมบางส่วนของอัล กุรอานที่เคยอ่านตอนกลางคืนหรือส่วนหนึ่งจากอัล กุรอาน ต่อจากนั้นเขาได้อ่านมันระหว่างละหมาดฟัจญฺ(ศุบฮฺ) และละหมาดซุฮรฺ ก็จะถูกบันทึกให้แก่เขา เสมือนกับที่เขาได้อ่านมันในยามค่ำคืน[11]

6) หวังการตอบรับ – จิตมุ่งตรงสู่อัลลอฮฺ, ไม่โอหัง, หวั่นเกรงว่าอัลลอฮฺจะไม่รับ
รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ กล่าวว่า
((‏ سَأَلْتُ رَسُولَ اللَّهِ ‏صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ‏ ‏عَنْ هَذِهِ الْآيَةِ وَالَّذِينَ يُؤْتُونَ مَا آتَوْا وَقُلُوبُهُمْ وَجِلَةٌ ‏قَالَتْ ‏‏عَائِشَةُ‏ ‏أَهُمْ الَّذِينَ يَشْرَبُونَ الْخَمْرَ وَيَسْرِقُونَ قَالَ لاَ يَا بِنْتَ ‏‏الصِّدِّيقِ ‏وَلَكِنَّهُمْ ‏ ‏الَّذِينَ يَصُومُونَ وَيُصَلُّونَ وَيَتَصَدَّقُونَ وَهُمْ يَخَافُونَ أَنْ لَا يُقْبَلَ مِنْهُمْ أُولَئِكَ الَّذِينَ يُسَارِعُونَ فِي الْخَيْرَاتِ))
ฉันได้ถามท่านเราะซูลุลลอฮฺเกี่ยวกับอายะฮฺที่ว่า และบรรดาผู้ที่บริจาคสิ่งที่พวกเขาได้มาโดยที่จิตใจของเขาเปี่ยมได้ด้วยความหวั่นเกรง(อัล กุรอาน23:60) โดยถามว่า 'พวกเขาคือผู้ที่ดื่มสุราและลักขโมยหรือ?' ท่านเราะซูลตอบว่า 'ไม่ โอ้บุตรสาวของ อัศ ศิดดีกฺ แต่ว่าพวกเขาถือศีลอด ละหมาด และบริจาคทาน แต่ว่าพวกเขากลัวว่าการงานพวกเขาจะไม่ถูกรับ ชนเหล่านั้นคือผู้ที่รีบเร่งในการประกอบความดีทั้งหลาย(อัล กุรอาน23:61)[12]
หวังว่า คำแนะนำที่กล่าวมาทั้งหมดพอจะเป็นแนวทางให้พวกเรานำไปสู่การบำบัดรักษาโรค "อีหม่านอ่อน" ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป อินชาอัลลอฮฺ

Source : Fwd mail
Digg Google Bookmarks reddit Mixx StumbleUpon Technorati Yahoo! Buzz DesignFloat Delicious BlinkList Furl

0 comments: on "อีหม่านอ่อน : โรคระบาดอันดับหนึ่ง"

แสดงความคิดเห็น